มาติดตามผลการหารือประหว่าง ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับ นาย เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ (31 พ.ค.) เกี่ยวกับผลกระทบของเงินเฟ้อต่อชาวอเมริกัน
โดย นาย ไบรอัน ดีส ผู้อำนวยการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวหลังการประชุมว่า ปธน.ไบเดน ได้ย้ำกับ ปธ.เฟดว่า ให้อิสระแก่นายพาวเวลฯ อย่างเต็มที่ ในการดำเนินนโยบายการเงินโดยไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
ขณะที่ รมว.คลังสหรัฐฯ กล่าวว่า มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างที่คาดไม่ถึง และเป็นสาเหตุให้ราคาพลังงานและอาหารพุ่งขึ้น รวมถึงก่อให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ เศรษฐกิจยังถูกกระทบเป็นวงกว้างจากการที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน และจากการที่จีนล็อกดาวน์เมืองสำคัญ เพื่อควบคุมการระบาดของโรค โควิด-19
รมว.คลังสหรัฐฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยเหล่านี้ ขณะที่เงินเฟ้อก็เป็นปัญหาอันดับหนึ่ง ที่ ปธน.ไบเดนฯ วิตกกังวล แต่ก็ให้ความเป็นอิสระแก่เฟดในการใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และคณะบริหารของ ปธน.ไบเดนฯ พยายามดำเนินการในทิศทางเดียวกับเฟด

มีรายงานว่า ท่าทีของ ปธน.ไบเดนฯ ที่ปฏิบัติต่อ ปธ.เฟด แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางของอดีต ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ที่พยายามเข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟด
รวมทั้ง เคยขู่ว่าจะปลด นาย พาวเวลฯ ออกจากตำแหน่ง หากไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามคำเรียกร้อง
การประชุมดังกล่าว มีขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี อันเนื่องมาจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภค
ซึ่งก่อนหน้านี้ นาย เจอโรม พาวเวล ได้ระบุว่า จะเสนอให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุม FOMC เดือน มิ.ย. และ ก.ค. หลังจากนั้น จะนำตัวเลขเศรษฐกิจมาพิจารณาปรับนโยบายการเงิน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน เม.ย. อัตราเงินเฟ้อประจำปีในสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.3% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือน มี.ค. แต่ยังใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ ขณะที่ตัวเลข PCE หลัก ซึ่งเป็นอีกมาตรวัดเงินเฟ้อสำคัญ ที่เฟดจับตา ก็ได้เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นการชะลอตัวจากเดือน มี.ค. เช่นกัน