คำแนะนำ :
หากราคาไม่หลุด 1,889-1,882 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เสี่ยงเปิดสถานะซื้อในบริเวณดังกล่าว (ตัดขาดทุนหากหลุด1,866 ดอลลาร์ต่อออนซ์) โดยเน้นการลงทุนระยะสั้นและต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงจากปริมาณการซื้อขายที่อาจเบาบางในช่วงเทศกาล Christmas
แนวรับ : 1,882 1,866 1,853 แนวต้าน : 1,911 1,921 1,933
สรุป
ราคาทองคำวันศุกร์ที่ผ่านมาปิดปรับตัวลดลง 3.70 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำในวันศุกร์ได้รับแรงกดดันจากการฟื้นตัวขึ้นของดัชนีดอลลาร์ หลังการเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจออกมาดีเกินคาด ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าจากความวิตกเกี่ยวกับ No-deal Brexit หลังจากอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU)ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากันได้ ซึ่งการอ่อนค่าของเงินปอนด์เป็นปัจจัยหนุนดอลลาร์เพิ่มเติม นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันเพิ่มจากข่าวที่ว่าสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐได้อนุมัติใช้วัคซีนต้านCOVID-19 ของบริษัทโมเดอร์นา อิงค์เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้ราคาทองคำร่วงลงแตะระดับต่ำสุดบริเวณ 1,877.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างวัน อย่างไรก็ดี ราคาปรับตัวลงในกรอบจำกัดเนื่องจากได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐระลอกใหม่ หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามบังคับใช้กฎหมาย “The Holding Foreign Companies Accountable Act” ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อเปิดทางให้สามารถถอดหุ้นของบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐได้ พร้อมกันนี้สื่อยังเปิดเผยอีกว่า สหรัฐได้ขึ้นบัญชีดำบริษัท SZ DJI Technology Co ของจีนซึ่งเป็นบริษัทผลิตโดรนรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่สำคัญคือ นักลงทุนคาดการณ์ว่าสภาคองเกรสใกล้จะอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ จึงส่งผลให้ราคาทองคำยังสามารถรักษาระดับไว้ได้ ก่อนที่เช้านี้ ราคาทองคำจะทะยานขึ้นแตะ 1,899 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากสภาคองเกรสได้บรรลุข้อตกลงเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์เรียบร้อยแล้ว ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำไม่เปลี่ยนแปลงในวันศุกร์ สำหรับวันนี้ไม่มีกำหนดการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ
ข่าวสารประกอบการลงทุน :
- (+) ดาวโจนส์ปิดลบ 124.32 จุด นลท.ขายทำกำไร-รอมาตรการกระตุ้นศก. ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (18 ธ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร หลังจากดัชนีดาวโจนส์, ดัชนี S&P500 และ ดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงเปิดตลาด โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในดัชนี S&P500 ถ่วงตลาดลงมากที่สุดหลังจากที่นำตลาดปรับตัวขึ้นในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังชะลอการเข้าซื้อหุ้น ขณะจับตารอสภาคองเกรสอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,179.05 จุด ลดลง 124.32 จุดหรือ -0.41%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,709.41 จุด ลดลง 13.07 จุด หรือ -0.35% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,755.64 จุด ลดลง 9.11 จุด หรือ -0.07%
- (+) สภาคองเกรสสหรัฐบรรลุข้อตกลงออกมาตรการกระตุ้นศก.วงเงิน 9 แสนล้านดอลล์แล้ว นายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐเปิดเผยว่า สภาคองเกรสได้บรรลุข้อตกลงเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์แล้ว โดยมาตรการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
- (+) “ทรัมป์” ลงนามกฎหมายเปิดช่องถอดบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามบังคับใช้กฎหมาย “The Holding Foreign Companies Accountable Act” ในวันศุกร์ (18 ธ.ค.) ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่อาจจะถอดหุ้นของบริษัทจีนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ หากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบบัญชี Public Accounting Oversight Board (PCAOB) ของสหรัฐภายในระยะเวลา 3 ปี กฎหมายดังกล่าวจะห้ามบริษัทต่างชาติจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐด้วย หากไม่ปฎิบัติตามมาตรการการตรวจสอบบัญชี PCAOB ของสหรัฐภายใน 3 ปี
- (-) ดอลล์แข็งค่าจากแรงซื้อคืนหลังร่วงต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 ธ.ค.) โดยดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นจากแรงซื้อคืน หลังจากร่วงลงอย่างหนักแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.22% สู่ระดับ 90.0200 ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 103.30 เยน จากระดับ 103.10 เยน และดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดาที่ระดับ 1.2787 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.2727 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.8838 ฟรังก์สวิส จาก 0.8849 ฟรังก์สวิส ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2241 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2264 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.32506 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3574 ดอลลาร์
- (-) Conference Board เผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนพ.ย. Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ย. โดยดีดตัวขึ้น 7 เดือนติดต่อกัน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5%
- (-) นายกฯอังกฤษยอมรับมีแนวโน้มเจรจา Brexit ล่ม นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่า การเจรจาการค้าระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าวิตก และขณะนี้มีแนวโน้มอย่างมากว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลง เว้นแต่ EU จะเปลี่ยนแปลงจุดยืนของตน
- (-) อังกฤษประกาศยกระดับมาตรการคุมโควิด หลังพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อเร็วกว่า นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยได้เพิ่มระดับใหม่ นั่นคือระดับ 4 จากเดิมที่มี 3 ระดับ ซึ่งจะมีผลคล้ายๆ กับมาตรการล็อกดาวน์ทั้งประเทศอย่างที่เคยประกาศไว้เมื่อเดือนพ.ย. เพื่อบังคับใช้กับกรุงลอนดอนและพื้นที่บางส่วนของอังกฤษ หลังพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อเร็วกว่า “ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้คาดว่าแพร่เชื้อมากกว่าเดิมถึง 70%” นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าว “โดยการแพร่ระบาดที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้” ระดับที่ 4 นี้หมายความว่าประชาชนจะต้องอยู่บ้าน โดยมีกรณียกเว้นเล็กน้อย และทางการอังกฤษยังขอให้ประชาชนทำงานจากที่บ้านด้วย นอกจากนี้ ธุรกิจค้าปลีกที่ไม่จำเป็นและยิมภายในอาคารจะต้องปิด โดยการยกระดับมาตรการครั้งนี้จะมีผล 2 สัปดาห์ และจะมีการทบทวนอีกครั้งวันที่ 30 ธ.ค.
- (-) FDA ชี้อาการแพ้หลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์อาจเกิดจากสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบ ดร.ปีเตอร์ มาร์คส ผู้อำนวยการศูนย์ประเมินผลและวิจัยทางชีววิทยาของสำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐเปิดเผยในการแถลงข่าวในวันศุกร์ (18 ธ.ค.) ว่า FDA กำลังทำการตรวจสอบผู้ที่เกิดอาการแพ้ 5 รายหลังจากฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ที่ร่วมผลิตกับบริษัทไบโอเอ็นเทคในสัปดาห์นี้ โดยมากกว่า 1 รัฐซึ่งรวมถึงอลาสก้าในสหรัฐรายงานการพบผู้มีอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนดังกล่าว
- (-) FDA ไฟเขียวใช้วัคซีนต้านโควิดของ “โมเดอร์นา” เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว สำนักงานอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐได้อนุมัติใช้วัคซีนต้านโรคโควิด-19 ของบริษัทโมเดอร์นา อิงค์เป็นกรณีฉุกเฉินแล้วในวันศุกร์นี้ (18 ธ.ค.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ได้มีมติอนุมัติให้ใช้วัคซีนดังกล่าวได้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
- (+/-) สภาผู้แทนฯสหรัฐอนุมัติร่างกม.งบประมาณชั่วคราว ช่วยหน่วยงานรัฐเลี่ยงชัตดาวน์ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวในวันอาทิตย์ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงาน (ชัตดาวน์) และมีงบประมาณในการดำเนินงานต่อไปได้จนถึงวันจันทร์ที่ 21 ธ.ค.ตามเวลาสหรัฐ โดยขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้กับวุฒิสภาพิจารณาเป็นลำดับต่อไป
ขอขอบคุณ : บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)