การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ ยังคงแย่ต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน เดือน พ.ค. ปรับตัวขึ้น 6.3% เมื่อเทียบรายปี เท่ากับเดือน เม.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้น 6.3%
ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบรายปี
ทั้งนี้ การที่ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนกังวลว่าเฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลัง นาย เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยืนยันว่าเฟดจะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงก็ตาม
ขณะที่ ทีมนักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า
เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากการหดตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) วางแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้น เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยด้วยเช่นกัน
การคาดการณ์ดังกล่าวของเจพีมอร์แกน มีขึ้นหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของ GDP ไตรมาส 1/2565 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
โดยระบุว่า GDP หดตัว 1.6% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% และ 1.5% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า GDP สหรัฐฯ อาจหดตัว 1.5% ในไตรมาส 1
ทั้งนี้ หาก GDP สหรัฐฯ หดตัวต่อไปในไตรมาส 2/2565 ก็จะบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นาย เจมี ไดมอน ซีอีโอของบริษัทเจพีมอร์แกน ได้ประกาศให้เตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากสงครามในยูเครน พร้อมกับแนะนำให้บรรดานักลงทุนเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวเช่นกัน
ทั้งนี้ มี 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ซีอีโอของบริษัทเจพีมอร์แกน รู้สึกกังวล คือ
1 เฟดยุติโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉิน (QE) และลดขนาดงบดุล (QT) และ 2 คือ สงครามในยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์
ด้าน นางเคธี วูด ซีอีโอของบริษัท Ark Investment Management กล่าวว่า
ขณะนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว พร้อมยอมรับว่า ที่ผ่านมาได้ประเมินความรุนแรงและความยืดเยื้อของวิกฤตเงินเฟ้อต่ำเกินไป โดยปัญหาใหญ่ก็คือ สต็อกสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตลอดชีวิตการทำงาน
ส่วนเงินเฟ้อพุ่งขึ้นรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์
ซีอีโอของบริษัท Ark Investment Management ยอมรับว่า สิ่งหนึ่งที่ประเมินผิดพลาด ก็คือ เรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้พุ่งขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ ส่วนปัญหาห่วงโซ่อุปทานนั้น แทบไม่น่าเชื่อว่าจะยืดเยื้อยาวนานกว่า 2 ปี และ แน่นอนว่า การที่รัสเซียใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน ก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างที่คาดไม่ถึง