สภาทองคำโลก (WGC) ออกรายงานฉบับล่าสุดโดยระบุว่า ธนาคารกลางกลับมาซื้อ ทองคำ อีกครั้ง โดยเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีทุนสำรองทั่วโลกเพิ่มขึ้น 19.4 ตัน
จากข้อมูลการสำรองทองคำล่าสุด เดือน เม.ย. มีธนาคารกลาง 4 แห่ง
เป็นผู้ซื้อหลัก คือ อุซเบกิสถาน ซื้อทองคำ 8.7 ตัน, คาซัคสถาน ซื้อทองคำ 5.3 ตัน, โดยเป็นการกลับมาซื้อครั้งแรกสำหรับทั้ง 2 ประเทศในปีนี้ และหลังจากการขายติดต่อกันมาในช่วง 3 เดือน ขณะที่ ประเทศตุรกี ยังคงซื้อทองคำเพิ่มอีก 5.6 ตัน ทำให้ทองคำสำรองของตุรกีอยู่ที่ 436.7 ตัน คิดเป็น 27.8% ส่วนอินเดีย ได้เพิ่มการถือครองทองคำ 0.9 ตัน ทำให้มีทองคำเป็นทุนสำรอง 761.3 ตัน
ส่วนในฝั่งที่ขายทองคำออก ในเดือน เม.ย. นำโดย เยอรมนี ขายทองคำ 0.9 ตัน ขณะที่ เม็กซิโก และ สาธารณรัฐเช็กขายทองคำได้ 0.1 ตัน
เมื่อมองภาพรวมจากต้นปีจนถึงกลางปี ธนาคารกลางยังคงซื้อ
โดยอียิปต์เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด โดยเดือน มี.ค. ซื้อทองคำมากถึง 44.1 ตัน และ ตุรกี ตามมาติด ๆ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน เม.ย. ซื้อทองคำไปแล้ว 42.5 ตัน ขณะที่ คาซัคสถาน และ อุซเบกิสถาน ยังคงเป็นผู้ขายรายใหญ่ที่สุดในปี 2565 แม้ว่าจะมีการซื้อใน เดือน เม.ย. ก็ตาม
ส่วนสาธารณรัฐเช็ก แม้ว่าจะขายทองคำไปบ้างแล้ว แต่ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่ ระบุ มีแผนที่จะเพิ่มทองคำสำรองของประเทศเป็น 100 ตัน
ความต้องการทองคำของธนาคารกลางได้เพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องจากการรุกรานยูเครนของรัสเซียยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และประเทศชาติตะวันตก ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ได้มีมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
นักวิเคราะห์มองว่า การใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอาวุธ อาจทำให้ธนาคารกลางบางแห่งเพิ่มการถือครองทองคำ และกระจายความเสี่ยงออกจากดอลลาร์สหรัฐฯ
Moe Zulfiqar, research analyst at Lombardi Financial กล่าวว่า
อุปสงค์ของธนาคารกลางที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันราคาทองคำให้อยู่ที่ 3,000 ดอลลาร์ โดยทองคำมีประวัติของการรักษาความมั่งคั่งในช่วงเวลาที่ค่าเงินอ่อนค่าและเกิดวิกฤต ซึ่งธนาคารกลางรู้เรื่องนี้ดี
ที่มา : Kitco.com