ราคาทองคำ มีแรงรีบาวด์อ่อน ๆ กลับมาแตะ 1,905 ดอลลาร์ หลังดอลลาร์พักตัวลงมาแถว 103.500 หลัง GDP ไตรมาสแรกของสหรัฐฯ หดตัว 1.4%
แต่ต้องมาดูว่า ราคาทองคำจะกลับมายืนเหนือ 1,910 ดอลลาร์ ก่อนปิดสัปดาห์และปิดเดือน เม.ย. ได้หรือไม่ ขณะที่ราคาทองคำไทยเช้านี้ขยับบวก 150 บาท
ราคาทองคำวานนี้ ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น 8 ดอลลาร์ ฟื้นตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนกว่า โดยในช่วงต้นการซื้อขายราคาทองคำได้ลงไปแตะ 1,872 ดอลลาร์ โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดัชนีดอลลาร์
อย่างไรก็ดี ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นในเวลาต่อมา โดยได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อทางเทคนิค หลังจากเกิดสัญญาณที่บ่งชี้ว่าแรงขายชะลอตัวลง ประกอบกับตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2022 หดตัว 1.4% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 1.1% และเป็นการหดตัวครั้งแรก นับตั้งแต่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงต้นปี 2020 ซึ่งทำให้ดัชนีดอลลาร์ชะลอการแข็งค่า จนเป็นปัจจัยหนุนทองคำให้ฟื้นตัว
ขณะที่ การเคลื่อนไหวราคาทองคำในช่วงเช้า ราคาได้ขึ้นไปแตะระดับ 1,905 ดอลลาร์ ก่อนจะย่อตัวลงมาเคลื่อนไหวแถว 1,900 ดอลลาร์ หลังจากดัชนีดอลลาร์เริ่มอ่อนตัวลงมาเคลื่อนไหวแถว 103.555 ซึ่งต้องมาตามดูว่าจะอ่อนตัวลงอีกหรือไม่
ทาง Shining Gold มองว่า
ภาพรวมสัญญาณทางเทคนิคเริ่มแสดงภาวะของการฟื้นตัวเล็กน้อย และเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นเมื่อสามารถทะลุ 1,899 ดอลลาร์ วันนี้ขึ้นไปได้ มีสัญญาณ Bullish Divergence เล็ก ๆ ใน Line 4H กำลังทำงานท่ามกลางแรงกดตัวด้านลบจากรายเดือนให้ราคาทองคำรีบาวน์ขึ้นมาสัมผัส 1,905 ดอลลาร์ ได้ไม่ยากนัก
กลยุทธ์การลงทุน รอราคาทองคำย่อตัว ให้เปิด Open Long ที่ 1,888-1,885 ดอลลาร์ และ 1,876 ดอลลาร์ โดยมีจุด Stop-loss ที่ 1,869 ดอลลาร์
ส่วนราคาทองคำในประเทศไทย ที่ประกาศโดย สมาคมค้าทองคำ
เช้านี้ (27 เม.ย.) ได้ขยับบวก 150 บาท โดยราคาแรกเปิดมาบวก 100 บาท ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นอีก 50 บาท ทำให้ราคาขายออกทองคำแท่ง 96.5 ล่าสุด (10.30 น.) อยู่ที่ 30,950 บาท ส่วนราคารับซื้ออยู่ที่ 30,850 บาท
คืนนี้สหรัฐฯ จะเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน เดือน มี.ค.
ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน จากเพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน หรือ เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบรายปี จากเพิ่มขึ้น 5.4% เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PMI เขตชิคาโก เดือน เม.ย. ตลาดคาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 62.1 จาก 62.9 ใน เดือน มี.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. ของ ม.มิชิแกน ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 65.8 จาก 65.7 ใน เดือน มี.ค.
หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่การชักชวนให้ ซื้อ-ขาย หรือ ลงทุน หรือ เป็นเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ และอาจจะไม่สะท้อนถึงความเห็นของ GoldAround.com ทั้งนี้ ทีมงานไม่ยอมรับความผิดในความสูญเสีย และ หรือ ความเสียหาย ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลข้างต้น