ราคาทองคำ ร่วงแรงแตะ 1,891 ดอลลาร์ ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน หลังดัชนีดอลลาร์ยังดีดตัวแรงต่อเนื่อง
ทำให้ระยะสั้นภาพรวมราคาทองคำยังไม่สู้ดี แม้ว่าอาจจะมีแรงรีบาวด์บ้าง แต่คาดว่าคงไปไม่ไกล รอลุ้นอย่าให้ราคาทองคำปิดรายเดือนต่ำกว่า 1,880 ดอลลาร์ ขณะที่ราคาทองคำไทยอาการหนักไม่แพ้กัน เช้านี้ลดลงไป 200 บาท
ราคาทองคำวานนี้ ปิดปรับตัวลดลง 32 ดอลลาร์ โดยราคาทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ หลังนักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ประกอบกับนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการที่จีนล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ ที่ได้เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ทำให้หวั่นว่าจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดซื้อเงินดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย
นอกจากราคาทองคำที่ร่วงลงแรงหลุดแนวรับสำคัญหลายแนว ได้กระตุ้นแรงขายตามทางเทคนิคเพิ่ม ทำให้ราคาทองคำร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน บริเวณ 1,891 ดอลลาร์
ขณะที่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ก็ปรับตัวลงแรงเช่นกัน โดยราคาสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย. ร่วงลง 3.53 ดอลลาร์ หรือ 3.5%
ทั้งนี้ คุณวิโรสินี สดากร ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บ.ชายนิ่งโกลด์ บูลเลี่ยน จำกัด กล่าวกับ GoldAround.com ว่า Dollar Index แข็งค่าต่อเนื่อง กดราคาทองร่วงจาก 1,932 ดอลลาร์สู่ 1,891 ดอลลาร์
ส่วนหนึ่งก็ เป็นผลมาจากที่ นาย เอ็มมานูเอล มาครง ได้รับเลือกเป็น ปธน.ฝรั่งเศส สมัยที่ 2 ทำให้ฝรั่งเศสจะเดินตามสหรัฐฯ และนาโต้ ในการสนับสนุนให้สงคราม รัสเซีย -ยูเครน ยังยืดเยื้อต่อ เป็นเหตุให้เงินยูโรอ่อนค่า
ประกอบกับสัปดาห์หน้า จะมีการประชุมเฟด ซึ่งตลาดคาดว่า เฟดจะใช้ยาแรงขึ้นกว่ารอบที่ผ่านมา จึงทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มทยอยลดสถานะ Long ลงเพื่อลดความเสี่ยง
กลยุทธ์ ช่วงสั้นในวันนี้ จึงรอรีบาวน์ Open Short ที่ 1,907 ดอลลาร์ และ 1,916-1,918 ดอลลาร์ มีจุด stop loss ที่ 1,927 ดอลลาร์ และเสี่ยง Open Long หาก gold spot ลงมา 1,882-1,878 ดอลลาร์ stop loss ที่ 1,872 ดอลลาร์ ( ฟังคลิปเสียงสัมภาณ์เพิ่มเติม )
ส่วนราคาทองคำในประเทศไทย ที่ประกาศโดยสมาคมค้าทองคำ
เช้านี้ (26 เม.ย.) ปรับตัวลดลงแรงบาทละ 200 บาท ทำให้ราคาขายออกทองคำแท่ง 96.5 ล่าสุด (10.30 น.) อยู่ที่ 30,750 บาท ส่วนราคารับซื้ออยู่ที่ 30,650 บาท
ด้านกองทุน SPDR ถือครองทองคำลดลง -2.90 ตัน
สำหรับวันนี้ ติดตามการเปิดเผย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน, ดัชนีราคาบ้านเดือนก.พ.โดย S&P/CS, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. จาก CB, ยอดขายบ้านใหม่เดือน มี.ค. และ ดัชนีภาคการผลิตเดือน เม.ย. จากเฟดริชมอนด์
หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่การชักชวนให้ ซื้อ-ขาย หรือ ลงทุน หรือ เป็นเครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ และอาจจะไม่สะท้อนถึงความเห็นของ GoldAround.com ทั้งนี้ ทีมงานไม่ยอมรับความผิดในความสูญเสีย และ หรือ ความเสียหาย ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลข้างต้น