ภาพถ่ายโดย Caleb Oquendo จาก Pexels
ภาพถ่ายโดย Caleb Oquendo จาก Pexels

ตลาดทองคำ กำลังเผชิญกับแรงเทขายทางเทคนิค แต่ยังคงมีแนวรับที่สูงกว่า $1,800 หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายให้สูงกว่า 5% ในปี 2566

ทั้งนี้ ในการประชุม FOMC เดือน ธ.ค. ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เป็นระหว่าง 4.25% ถึง 4.50% แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะชะลอตัวลง แต่เฟดระบุจะยังคงมีความเข้มงวดนโยบายการเงินต่อไปในปี 2566

โดยในแถลงการณ์ของการประชุมระบุว่า คณะกรรมการฯ คาดการณ์ว่า การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 2 พร้อมระบุความล่าช้าของนโยบายการเงินอาจจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเงิน

ขณะที่ ใน dot plot บ่งชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยของ Fed Funds จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ในเดือน ก.ย. ที่ 4.6%

นอกจากนั้น ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม เฟดมองว่า อัตราดอกเบี้ยของ Fed Funds จะลดลงเหลือ 4.1% ในปี 2024 และจากนั้นจะลดลงเหลือ 3.1% ในปี 2025

Adam Button

Adam Button, head of currency strategy ของ Forexlive.com กล่าวว่า

ตัวเลขประมาณดอกเบี้ยที่สูงขนาดนี้ ไม่ส่งผลดีต่อราคาทองคำในระยะยาว และผลจากการประชุมครั้งนี้อาจจะได้เห็นการขายหุ้นและซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มากขึ้น

ด้าน Paul Ashworth, chief North American Economist ของ Capital Economics กล่าวว่า

การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของกรรมการเฟดแต่ละคน แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยจะยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เช่น เจมส์ บุลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เซนต์หลุยส์ และ นีล แคชคารี ประธานเฟด มินนิอาโปลิส ต่างก็มองว่า อัตราดอกเบี้ยเฟดจะสูงถึง 5.75% ในปีหน้า

อย่างไรก็ดี Paul Ashworth มองว่า แม้กรรมการเฟดจะหนุนการขึ้นดอกเบี้ย แต่ต้องมาดูว่า สิ่งที่ทำในเดือนนี้ คือการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และหากตัวเลขเงินเฟ้อในต้นปีหน้ายังคงลดลงอีก ก็อาจจะทำให้เฟดต้องกลับมาทบทวนแนวทางอีกรอบ ซึ่งยังมองว่า อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 25bp ในต้นเดือน ก.พ.

Katherine Judge

ขณะที่ Katherine Judge senior economist ของ CIBC กล่าวว่า CIBC ยังคงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 2566 ไว้เช่นเดิม

โดยมองว่าข่าวที่เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในอนาคต จะทำให้คณะกรรมการเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ระบุไว้

Katherine Judge คาดว่า จะเห็นอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมากพอที่จะทำให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 50 bps ซึ่งจะทำให้เพดานอัตราดอกเบี้ยรวม เหลือ 5.0% ต่ำกว่าที่เฟดคาดการณ์ไว้เล็กน้อย

อีกประเด็นที่น่าสนใจในการประชุมครั้งนี้ คือ แม้เฟดจะส่งสัญญาณความเข้มงวดของนโยบายการเงินเพิ่มเติม แต่กลับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2566

โดยมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 0.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการคาดการณ์ในเดือน ก.ย. ที่ 0.2%

อย่างไรก็ตาม เฟดได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2566 สู่ระดับ 0.5% จากเดิมที่ระดับ 1.2% และคาดว่าจะขยายตัว 1.6% และ 1.8% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ขณะที่ การขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%

ส่วนอัตราการว่างงาน เฟดคาดว่าจะแตะระดับ 3.7% ในสิ้นปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.8% และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.6% ทั้งในปี 2566 และ 2567 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.5% ในปี 2568 ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฟดคาดว่าจะแตะระดับ 4.8% ในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิม ที่ระดับ 4.5% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 3.5%, 2.5% และ 2.1% ในปี 2566, 2567 และ 2568 ตามลำดับ

สำหรับรายละเอียดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2565 เป็นดังนี้ วันที่ 25-26 ม.ค. คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% , วันที่ 15-16 มี.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ 0.25-0.50% , วันที่ 3-4 พ.ค.ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 0.75-1.00%

วันที่ 14-15 มิ.ย. ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 1.50-1.75% , วันที่ 26-27 ก.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 2.25-2.50% , วันที่ 20-21 ก.ย. ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 3.00-3.25% ,วันที่ 1-2 พ.ย.ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 3.75-4.00% และวันที่ 13-14 ธ.ค. ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สู่ 4.25-4.50%

ส่วนคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟด ในปี 2566-2568 เป็นดังนี้ ปี

2566 คาดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สู่ 5.00-5.25%, ปี 2567 คาดลดดอกเบี้ย 1.00% สู่ 4.00-4.25% และปี 2568 คาดลดดอกเบี้ย 1.00% สู่ 3.00-3.25%

ข้อมูลอ้างอิง : Kitco.com