ด้วยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่กดดันตลาดทั่วทั้งกระดาน ทำให้ราคาทองคำอยู่ที่จุดสำคัญ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า แนวรับแถว 1,800 ดอลลาร์ ยังไม่มีความมั่นคง
สิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่เผยให้เห็นว่า สมาชิก FOMC ไม่กี่คนที่เอนเอียงไปทางการปรับขึ้น 0.50% แทนที่จะเพิ่มขึ้น 0.25%
ยิ่งไปกว่านั้น มาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ คือ ดัชนีราคา PCE เดือน ม.ค. ได้เร่งตัวขึ้นแตะ 4.7% สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 4.3%
Edward Moya นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสของ OANDA กล่าวกับ Kitco News ว่า
มีปรับการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะพุ่งสูงแค่ไหน ตอนนี้ผู้คนกำลังคาดว่าจะสูงกว่า 6% ซึ่งสำคัญมากพอที่จะกดดันราคาทองคำให้ร่วงแรง โดยแนวรับต่อไป คือ 1,800 ดอลลาร์ และ อาจจะลงไปได้อีก 50 ดอลลาร์
ทั้งนี้ Michael Boutros นักยุทธศาสตร์ทางเทคนิคอาวุโสของ Forex.com กล่าวกับ Kitco News ว่า
ราคาทองคำปิดรายสัปดาห์ต่ำกว่า 1,807-1,805 ดอลลาร์ เสี่ยงที่ราคาจะร่วงลงอย่างมาก และอาจมองไปที่ 1,750 ดอลลาร์
ข่าวดีสำหรับทองคำ ก็คือ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังไม่คลาย กำลังส่งผลดีต่อราคาทองคำในแง่ของการหาจุดต่ำสุดในแนวโน้มขาลงรอบนี้
โดยผู้คนกำลังกังวล ‘ภัยคุกคามจากนิวเคลียร์’ และสัปดาห์นี้เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของสงครามในยูเครน และเป็นเวลาสำหรับการตรวจสอบความเป็นจริง
ทั้งนี้ หากภัยคุกคามโดดเด่นมากขึ้น และเจรจายังคงไม่คืบหน้า ก็อาจจะเป็นจุดหนุนสำคัญของทองคำ
Everett Millman ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะมีค่าของ Gainesville Coins กล่าวว่า
ความผันผวนในตลาดทองคำยังไม่จบสิ้น เนื่องจากราคาสามารถลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ดีดตัวแรง จะไม่แปลกใจที่จะเห็นราคาทองคำทะลุต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์ โดยคาดหวังว่า ราคาทองคำจะกลับมาอย่างรวดเร็ว หากสถานการณ์ในยูเครนร้อนระอุขึ้น
Moya กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดทองคำยังคงถูกกดดัน จากนโยบายของเฟด ที่พยายามจะดึงให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมาย 2% ทำให้ทองคำยังคงมีความเสี่ยงในระยะสั้น
โดยแนวรับสำคัญ หากหลุด 1,800 ดอลลาร์ ลงไป ก็จะเป็น 1,750 ดอลลาร์ และแนวรับสำคัญที่สุด คือ 1,730 ดอลลาร์
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังรอดูข้อมูลเศรษฐกิจมหาภาคในสัปดาห์หน้า เพื่อหาสัญญาณเพิ่มเติม หลังราคาทองคำเริ่มต้นปีอย่างแข็งแกร่ง
โดย วันจันทร์ จะมียอดสั่งซื้อสินค้าคงทน วันอังคาร มีตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภค วันพุธ มีตัวเลข PMI ภาคการผลิตของ ISM วันพฤหัสบดี ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และ วันศุกร์ ตัวเลข PMI นอกภาคการผลิตของ ISM
ที่มา : Kitco.com