รายงานศูนย์วิจัยทองคำ ก.ค.64
รายงานศูนย์วิจัยทองคำ ก.ค.64

ศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน กรกฎาคม 2564 ได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 66.67 จุดลดลง 5.07 จุด หรือคิดเป็น 7.07% จากเดือน มิถุนายน ที่อยู่ในระดับ 71.74 จุด

สาเหตุจากวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 มีประสิทธิภาพสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น และการลดนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)

เมื่อมาดูดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ ระยะสามเดือน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 (ก.ค.–ก.ย.) ปรับเพิ่มขึ้น 0.45 จุด หรือคิดเป็น 0.66% มาอยู่ที่ระดับ 67.97 จุด จากไตรมาส 2 ที่อยู่ระดับ 67.52 จุด

น่าจะมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การอ่อนค่าของเงินบาท และภาวะอัตราเงินเฟ้อ

มาดูความเห็นของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ 13 ราย เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน กรกฎาคม จะเพิ่มขึ้น มี 6 ราย คาดว่าจะใกล้เคียงกับเดือน มิถุนายน มี 5 ราย ส่วนที่คาดว่าจะลดลง มี 2 ราย

สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน กรกฎาคม Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,724 – 1,843 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 26,300 – 28,200 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 31.70 – 32.80 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่าในเดือน กรกฎาคม ราคาทองคำมีโอกาสฟื้นตัว หากผ่านแนวต้านแรกที่บริเวณ 1,826 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ได้ แนวต้านถัดไปอยู่ที่ 1,872 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์

อย่างไรก็ตามอาจมีแรงขายทำกำไรที่สลับออกมา โดยมีแนวรับอยู่ที่บริเวณ 1,733 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ทั้งนี้ นักลงทุนควรวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ เนื่องจากความผันผวนของราคาทองที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผอ.ศูนย์วิจัยทองคำ

ด้าน ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า ภาพรวมราคาทองคำในครึ่งปีแรกของปี 2564 ลดลงไปเกือบ 7 เปอร์เซ็นต์ โดยในช่วงไตรมาแรกราคาทองคำได้ปรับตัวลดลง หลังทิศทางการฟื้นตัว เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น จากการควบคมการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ

จนกระทั่งในไตรมาส 2 ราคาทองคำได้กลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งจากความกังวลเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ที่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น จนมีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะยังไม่เร่งลดวงเงิน QE และปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยในเดือน พ.ค. ได้กลับมาแตะจุดสูงสุดที่ 1,912 ดอลลาร์

แต่ในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 2 ราคาทองทำได้กลับมาปรับลดลงแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่มีการประชุม FOMC ซึ่งเนื้อหาหลายส่วนได้ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำอย่างมาก ทั้งการคาดการณ์เศรษฐกิจของเฟด ที่มีมุมมองเชิงบวกมากขึ้น และประเด็นสำคัญ คือ Dot Plot หรือ การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยจากเฟด ประจำเดือน มิ.ย. บ่งชี้ว่า เฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566

“ผลจากการประชุม FOMC ทำให้ราคาทองคำในสัปดาห์ดังกล่าว ร่วงลงกว่า 100 ดอลลาร์ หรือปรับตัวลดลง -6% มาแตะจุดต่ำสุดบริเวณ 1,751 ดอลลาร์ ก่อนจะฟื้นตัวเล็กน้อยมาและปิดไตรมาสที่ 2 ที่ระดับ 1,769 ดอลลาร์ และ ยังทำให้การคาดการณ์การเคลื่อนไหวราคาทองคำของนักลงทุนไทย ที่ให้ความเห็นผ่านการสำรวจของศูนย์วิจัยทองคำพลาดเป้าเป็นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน”

ส่วนประเด็นที่ต้องจับตามองในช่วงครึ่งปีหลัง เรื่องหลักยังคงเป็นเรื่องการพี่ระบาดของไวรัส โควิด-19 โดยเฉพาการกลายพันธุ์ที่อาจจะทำให้การควบคุมมีปัญหา และอาจทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อได้กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง และหากว่าทุกอย่างกลับเข้าไปสู่กระบวนการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอีกรอบ ก็จะทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจอีกครั้ง และนั่นก็จะส่งผลดีต่อราคาทองคำ อาจจะทำให้ราคากลับมาเคลื่อนไหวในระดับสูงอีกรอบ

อีกประเด็นที่ต้องจับตาใกล้ชิด คือ การประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่แจ๊คสัน โฮล ในช่วงปลายเดือน สิงหาคม โดยจะต้องดูว่าเฟดจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือไม่ ทั้งเรื่องการปรับลดวงเงิน QE รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หากว่าที่ประชุมเฟดมีมติจะเริ่มลด QE ในช่วงปลายปีนี้ และเตรียมจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีถัดไป เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาทองคำอย่างหนัก

ที่มา : ศูนย์วิจัยทองคำ